สืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ศิลปินนายหนังตะลุงชั้นครูปั้นศิลปินนายหนังตะลุงเยาวชนชาวใต้ สู่ศิลปินของชาติ

" สืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ศิลปินนายหนังตะลุงชั้นครูปั้นศิลปินนายหนังตะลุงเยาวชนชาวใต้ สู่ศิลปินของชาติ"

โครงการ "สอนเยาวชนหนังตะลุง ตอน ๒ ปฏิบัติการตำนานเรื่องที่หนังตะลุงใช้แสดง" โดยอาจารย์อนันต์ สิกขาจารย์ นายหนังตะลุงชั้นครู ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ - ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ ณ วิชชาลัยหนังตะลุง ศูนย์ฝึกหนังตะลุงฝั่งอันดามัน จังหวัดตรัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอันทรงคุณค่าของภาคใต้สู่ศิลปินนายหนังตะลุงเยาวชนรุ่นใหม่

โครงการนี้เป็น ๑ ใน ๑๒ โครงการ ที่ได้รับการสนับสนุน ครั้งที่ ๑ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๘ จากกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ซึ่งนางนวลพรรณ ล่ำซำ (มาดามแป้ง) ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม และคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น รากฐานของศิลปวัฒนธรรมไทย จึงมีปณิธานอันแน่วแน่ในการมุ่งมั่นผลักดันให้เยาวชนตนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้และสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านอันเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น สู่การเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

อาจารย์อนันต์ สิกขาจารย์ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรมให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง ปี ๒๕๓๔ เป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะปราชญ์แห่งหนังตะลุง ได้นำความรู้และประสบการณ์ในการแสดงมาแบ่งปันแก่เยาวชนผู้สนใจอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา ๓ วัน โดยเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวกับตำนานพื้นบ้านซึ่งมักถูกนำมาใช้เป็นเรื่องราวในการแสดงหนังตะลุง เช่น ตำนานพระรถเมรี ตำนานพระสุธน-มโนราห์ โดย Unesco ได้ขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๔

ภายในกิจกรรมประกอบไปด้วยการอบรมภาคทฤษฎีว่าด้วยความหมาย ประวัติความเป็นมา และความสำคัญของแต่ละตำนาน ตามด้วยการฝึกปฏิบัติจริงด้านการเชิดตัวหนังตะลุง การใช้เสียงพากย์ตัวละคร และเทคนิคการใช้ดนตรีประกอบ โดยศิลปินนายหนังตะลุงเยาวชน และผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้และทดลองแสดงจริงภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากอาจารย์อนันต์และคณะครูผู้ช่วย

โครงการนี้ได้รับความสนใจจากนายหนังตะลุงเยาวชน จำนวน ๒๐ คณะ ซึ่งเป็นผู้ที่สนใจในด้านศิลปะการแสดงหนังตะลุงและดนตรีพื้นบ้าน เข้าร่วมรับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากศิลปินนายหนังชั้นครู ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาศักยภาพของตนเองและคณะการแสดง รวมถึงสร้างเครือข่ายการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น นอกจากการแสดงหนังตะลุงแล้วยังมีการถ่ายทอดวิชาชีพ การแกะหนังตะลุงโดยมอบหมายให้เยาวชนรุ่นพี่ที่มีผลงานโดดเด่นมาเป็นครูพี่เลี้ยง รวมถึงมีการสาธิตการแกะสลักหนังตะลุงจากหนังวัวของเยาวชนรุ่นใหม่ให้ได้ชม และสามารถสร้างเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้อีกด้วย

การแสดงของนายหนังตะลุงเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ได้รับความสนใจจากเยาวชนและประชาชนในพื้นที่มาร่วมให้กำลังใจและชมการแสดงอย่างมาก และยังมีส่วนสำคัญในการปลูกฝังจิตสำนึกของบุคลากรทั้งระบบนิเวศน์ศิลปะการแสดงพื้นบ้านหนังตะลุง อันได้แก่ ศิลปินชั้นครู วิทยากรครูผู้ช่วย นายหนังตะลุงเยาวชนรุ่นใหม่ นักแสดงดนตรี ช่างแกะหนังตะลุง เยาวชน ประชาชน สถานบันการศึกษาภาครัฐและเอกชน ได้เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมหนังตะลุง ร่วมกันส่งเสริมให้เกิดนักแสดงหนังตะลุงเยาวชนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและเข้าใจในรากเหง้าของตนเอง ให้เป็นศิลปินนายหนังตะลุงของชาติ เพื่อสืบทอดศิลปวัฒนธรรมอันดีงามจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป

 https://www.facebook.com/share/v/169VPaRir7/ 

   

อัลบั้มภาพของบทความนี้